วิกฤตการณ์อาหารโลก



        ในขณะที่ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาราคาน้ำมันที่แพงขึ้นและทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสำหรับคนและสัตว์มีราคาพุ่งสูงขึ้นโดยมิได้คาดการณ์มาก่อนและนำไปสู่การเกิด“วิกฤตการณ์อาหารโลก”(World Food Crisis) ขึ้น ก่อให้เกิดกระแสความตึงเครียดไปทั่วโลกเนื่องจากประชาคมโลกล้มตายด้วยความอดอยากและหิวโหย จะเห็นว่า ไม่มีสงครามใดในโลกนี้จะทำให้ประชาชนต้องเสียชีวิตทุกๆ นาที และทุกๆ วันได้มากเท่านี้

       จากราคาอาหารที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทำให้บางประเทศเริ่มขาดแคลนอาหารหลัก (Food-deficit)
ต้องนำเข้าอาหารและโภคภัณฑ์เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันหลายๆ ประเทศถึงกับต้องวางมาตรการห้ามส่งออก และมีการเรียกเก็บภาษีส่งออกทั้งข้าวและอาหาร เช่น ประเทศอินเดีย ยูเครน รัสเซีย คาซัคสถาน รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของเราได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา เป็นต้น แม้แต่ประเทศฟิลิปปินส์เอง ยังประสบปัญหาภาวะขาดแคลนข้าวอย่างหนักดังนั้น จึงเป็นเหตุให้องค์กรระหว่างประเทศ ต่างหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว โดยต่างเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศต่างๆทั่วโลก ต้องเร่งหามาตรการที่เหมาะสมมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว

       ปัญหาวิกฤตการณ์อาหารโลกครั้งนี้ นับเป็นปัญหาระดับโลกที่คุกคามทั้งทางสังคมและการเมืองไปทั่ว จนเป็นเหตุให้ผู้นำของโลกถกเถียงกันในเวทีการประชุมสุดยอด “เรื่องความปลอดภัยด้านอาหารของโลก” ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ถึงวิธีจัดการกับเรื่องที่ราคาอาหารแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งนี้เพื่อหาวิธีปรับปรุงด้านการจัดหาอาหารให้ประชากรโลกผู้อดอยากและหิวโหย


       องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ขณะนี้มีถึง 37 ประเทศ ที่กำลังเผชิญกับ
วิกฤตการณ์อาหารโลกอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาราคาอาหารแพงขึ้นทั่วโลกนี้ ทางสหประชาชาติเรียกว่าเป็น “Perfect storm of conditions”

       ตามรายงานขององค์การอาหารโลกแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนมีนาคม 2551 ที่ผ่านมา สรุปภาพรวมของวิกฤตการณ์อาหารโลกว่า ราคาอาหารได้เพิ่มขึ้นจากปี 2006 ถึงสิ้นปี 2007 แล้ว 23% เมล็ดพันธุ์ต่างๆ ราคาเพิ่มขึ้น 42% น้ำมันประกอบอาหาร ราคาเพิ่มขึ้น 50% และผลิตภัณฑ์จากนม 80% จากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารดังกล่าว คงต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนานกว่าจะปรับสู่สภาพที่สมดุลได้ ปัจจัยเหล่านี้กระตุ้นให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)ประกาศจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจด้านวิกฤติอาหารโลก เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์โดยเร่งด่วน

       นายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งรับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานชุดนี้ ได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกช่วยกันสนับสนุนและบริจาคเงินที่ยังคงขาดอยู่ประมาณ755 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 23,400 ล้านบาท ให้แก่โครงการอาหารโลก เพื่อช่วยเหลือผู้อดอยากหิวโหยในประเทศที่ยากจน และภายในปี 2573 จะต้องเพิ่มการผลิตอาหารของโลกขึ้นอีก 50% เพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนลดข้อจำกัดด้านการส่งออกและภาษีศุลกากรจากสินค้าขาเข้า จัดให้มีการเจรจาของผู้นำนานาประเทศถึงแนวทางแก้ไขขั้นพื้นฐานที่จำเป็นอย่างรีบด่วน ซึ่งมีทั้งการพัฒนาปรับปรุงระบบเศรษฐกิจ ระบบการกระจายอาหาร และส่งเสริมแนวทางการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแบบใหม่ตลอดจนให้มีการเจรจาการค้าระดับโลกให้สำเร็จลุล่วงไปอย่างรวดเร็ว

       ขณะเดียวกัน ดร. ฌาคส์ ดิอุฟ ผู้อำนวยการองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้วิงวอนต่อบรรดาผู้นำของโลกให้ช่วยบริจาคเงินปีละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมแบบใหม่ ด้วยการปรับโครงสร้างในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารของโลก โดยการเพิ่มการผลิตและผลิตภาพของประเทศที่มีรายได้ต่ำและขาดแคลนอาหารโดยระบุว่าวิกฤตการณ์ด้านอาหารของโลกในขณะนี้ จะทำให้เกิดปัญหาสังคมและการเมือง เพราะเกิดการแย่งชิงอาหารซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสันติภาพ และความมั่นคงของโลกในอนาคตได้


        ผลจากวิกฤตอาหารที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนที่สุด คือ การเกิดเหตุการณ์จลาจลอย่างรุนแรงขึ้นในประเทศเฮติ เนื่องจากขาดแคลนอาหารและราคาอาหารที่แพงลิบลิ่ว จนก่อให้เกิดการประท้วงเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเฮติถึงขั้นต้องปรับเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาปากท้องให้แก่ประชาชนนอกจากนี้ยังมีเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกาและประเทศอื่นๆ อีกตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ

        ทุกครั้งที่มีวิกฤตราคาพลังงานเกิดขึ้น วิกฤตด้านราคาอาหารก็จะเกิดตามมาเป็นวัฏจักร เนื่องจากการเคลื่อนย้ายของธุรกิจพลังงานเข้ามาแย่งวัตถุดิบไปจากพืชอาหาร เพื่อเอาไปผลิตพลังงานส่งผลให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น

        ปัจจุบันภาวะราคาอาหารที่แพงสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า “ภาวะราคาอาหารเฟ้อ” (Food Inflation) พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ จะเห็นได้ว่า ดัชนีเฉลี่ยราคาอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ในช่วงมีนาคม 2551เท่ากับ 220 โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดือนมีนาคมของปีก่อนๆ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 57 โดยดัชนีอาหารเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความไม่สมดุลระหว่างผลผลิตและความต้องการใช้ที่แตกต่างกัน

        ราคาอาหารที่แพงสูงขึ้นและคาดว่าจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง เกิดจากปัจจัยสำคัญที่ผลผลิตมีแนวโน้มลดลง สวนทางกับความต้องการบริโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และเกิดจากปัจจัยแทรกซ้อนหลายๆ ปัจจัยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ คือ
       1. การเก็งกำไรและสภาวะเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกาที่ตกต่ำ
       2. นโยบายเรื่องการส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
       3. สภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน
       4. ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นและดูจะต่อเนื่องยาวนาน จนต้องหันไปใช้ไบโอดีเซลทดแทน
       5. การบริโภคสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากของบรรดากลุ่มประเทศตลาดใหม่

       วิกฤตการณ์อาหารในวันนี้ มาจากปัญหาภาคการเกษตรที่ถูกปรับเปลี่ยนจากการเพาะปลูกเพื่อการส่งออก มาแทนการเพาะปลูกเพื่อการบริโภคภายในประเทศ การเปลี่ยนมาเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้องสิ้นเปลืองปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และแหล่งน้ำเบียดเบียนวิถีเกษตรเพื่อชุมชนสู่ภาค “ธุรกิจการเกษตร” อย่างไร้เหตุผลนอกจากจะไม่บรรเทาความอดอยากแล้ว ยังทำให้ประชาชนหลายล้านคน ในประเทศที่ส่งออกอาหาร เช่น ประเทศอินเดียประชากร 1 ใน 5 ต้องอดมื้อกินมื้อ แม้แต่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อีก 48% ยังต้องประสบภาวะทุพโภชนาการ และในประเทศโคลัมเบีย ประชากรถึง 13% ก็ประสบภาวะนี้เช่นกัน

        แนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วนอีกทางหนึ่งก็คือ การประชุมสุดยอดของสหประชาชาติว่าด้วย “วิกฤตอาหาร”ที่จัดขึ้น ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551 ผู้นำของโลกได้ให้คำมั่นว่า จะลดอุปสรรคทางการค้าและจะส่งเสริมการผลิตภาคการเกษตรให้มากขึ้น เพื่อสู้กับวิกฤตการณ์อาหารที่ทำให้เกิดภาวะอดอยากและนำไปสู่การก่อความไม่สงบรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก ที่ประชุมได้ผ่านความเห็นชอบในปฏิญญาร่วมกันที่จะแก้ปัญหาวิกฤตอาหารแพงและส่งเสริมการลงทุนในภาคการเกษตรให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างความสมดุลในประเด็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันในเรื่องของเชื้อเพลิงชีวภาพ และการเรียกร้องให้ช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยในประเทศยากจนที่มีความต้องการเมล็ดพันธุ์ปุ๋ย และอาหารสัตว์ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาวิกฤตอาหารที่โลกกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติเคยจัดการประชุมสุดยอดอาหารโลกมาแล้วเมื่อปี ค.ศ. 1996 เพื่อสร้างอธิปไตยทางอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์ให้เน้นการบริโภคภายในประเทศ การคุ้มครองปกป้องสิทธิมนุษยชน และสร้างหลักประกันให้ประชาคมโลกเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าและเหมาะสมทางวัฒนธรรม

        วิกฤตการณ์อาหารโลกไม่ใช่ปัญหาระยะสั้นๆ เพราะประชาคมโลกต่างให้ความสนใจและตระหนักถึงประเด็นปัญหาเหล่านี้ด้วยความวิตกกังวล บ้างก็วิเคราะห์ว่าเกิดจากการนำเอาพลังงานทดแทน (Biofuel) มาใช้ ทำให้ธัญพืช (Grains)ลดปริมาณลงและเกิดการขาดแคลนอยู่ตลอดเวลา เช่น บรรดาประเทศในแถบทะเลทรายซาฮารา เป็นต้น


        ปัญหานี้ คือ ปัญหาฉุกเฉินที่ต้องการการแก้ไข แต่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่เงินทุนช่วยเหลือด้านการวิจัย ที่มีงบประมาณน้อยมาก การพัฒนาด้านการเกษตรดูเหมือนจะถูกละเลย การบริหารจัดการก็เป็นไปภายใต้กรอบของกระบวนการโลกาภิวัตน์ เนื่องจากนานาประเทศหันมาพึ่งการค้ามากกว่าการพึ่งพาตนเอง ผลกระทบจากการใช้พลังงานทดแทนที่เห็นได้ชัดก็คือ กรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใช้พื้นที่เพื่อพลังงานทดแทนมากขึ้น ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดเพื่อเป็นอาหารคน และ สัตว์กว่า 30% ถูกแปรเปลี่ยนไป จากกรณีดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบกับแหล่งผลิตอาหารแน่นอนเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก

       แม้แต่ในยุโรปเองก็ยังสนับสนุนนโยบายด้านการผลิต เอทานอล โดยกำหนดให้มีส่วนผสมของเอทานอลอย่างน้อย 10% ดังนั้นพื้นที่เพาะปลูกอาหารเพื่อบริโภค จึงกลายมาเป็นการปลูกปาล์มน้ำมัน อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง เพื่อเป็นพลังงานทดแทน เช่นกัน

        องค์การอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) ได้ตั้งชื่อวิกฤตการณ์นี้ว่าเป็น “Silent Tsunami” หรือ“สึนามิเงียบ” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้เตรียมการรับมือไว้ก่อน นับว่าท้าทายความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องในการวางนโยบายเพื่อความอยู่รอด ของประชาคมโลกเป็นอย่างยิ่ง

        สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รับรู้ของประชาคมโลกว่า อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร เพราะเราเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าภาคเกษตรรายใหญ่ของโลก ย่อมหนีไม่พ้นกับผลกระทบด้านราคาอาหารแพง ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงไม่พ้นประชาชนผู้ยากจนรวมไปถึงชนชั้นกลาง ซึ่งถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการเพื่อวางนโยบายและดำเนินการอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันความเดือดร้อนจากราคาอาหารที่แพงสูงขึ้น แต่ไม่สอดรับกับรายได้ของประชาชนโดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ขณะนี้คงต้องเน้นที่ความสำคัญของการบริหารจัดการ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ของประเทศ เพื่อส่งเสริมผู้ที่เป็นเกษตรกรและผู้ผลิตให้คงได้รับผลประโยชน์จากภาคการตลาด ส่วนประชาชน ผู้บริโภคทั้งหลาย ก็ต้องเข้าถึงอาหารทั้งโอกาสและการกระจายรายได้ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน


       แต่ถึงอย่างไรก็ตามน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยมากกว่าที่ได้เกิด “วิกฤตการณ์อาหารโลก” ขึ้นเนื่องจากเราเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารส่งออกที่สำคัญของโลก มีปริมาณอาหารเพียงพอทั้งการบริโภคภายในประเทศ และส่งออกได้พร้อมๆ กัน อีกทั้งเรายังมีพื้นที่นิเวศอันอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์เลี้ยงที่เป็นอาหาร มากมายนานาชนิด “ข้าว” ซึ่งนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้และแปรวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ ภายใต้แผนพัฒนาด้านศักยภาพของความเป็นแหล่งอาหารโลกเพื่อรองรับแนวโน้มทาง การเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะอาหารก็คือทรัพยากรที่มีความสำคัญมากขึ้นทุกๆ วัน

        การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศที่เป็นระบบ จะทำให้เรากลายเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีเอกภาพ เน้นการเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขยายพื้นที่ภาคการเกษตรควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำ และร่วมกันส่งเสริมทุกภาคส่วน โดยเน้นการจัดแบ่งพื้นที่เพาะปลูก พืช ธัญญาหารให้มากกว่าพื้นที่ปลูกพืชพลังงานทดแทน แม้ไทยเราจะเป็นผู้นำเข้าด้านพลังงานสุทธิ แต่ก็ควรให้ความสำคัญกับการปลูกพืชพลังงานทดแทนเสมอกัน ทั้งนี้เนื่องมาจากสาเหตุปัจจัยจากความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันทั่วโลกที่ยังไม่หยุดนิ่ง

        การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศที่เป็นระบบ จะทำให้เรากลายเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีเอกภาพ เน้นการเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ขยายพื้นที่ภาคการเกษตรควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำ และร่วมกันส่งเสริมทุกภาคส่วน โดยเน้นการจัดแบ่งพื้นที่เพาะปลูก พืช ธัญญาหารให้มากกว่าพื้นที่ปลูกพืชพลังงานทดแทน แม้ไทยเราจะเป็นผู้นำเข้าด้านพลังงานสุทธิ แต่ก็ควรให้ความสำคัญกับการปลูกพืชพลังงานทดแทนเสมอกัน ทั้งนี้เนื่องมาจากสาเหตุปัจจัยจากความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันทั่วโลกที่ยังไม่หยุดนิ่ง

        การปลูกพืชพลังงานทดแทน เช่น อ้อยและมันสำปะหลังสามารถนำมาผลิตเป็นเอทานอลได้อย่างพอเพียง เนื่องจากพื้นที่สำหรับการเกษตรของเรามีเป็นจำนวนมาก

        เมื่อวิกฤตการณ์พลังงานแผ่ขยายไปทั่วโลก นโยบายด้านการผลิตเอทานอลจึงเป็นนโยบายในระยะยาวที่ต้องจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเตรียมการแก้ไขและป้องกันไปพร้อมๆ กับการแก้ไขวิกฤตการณ์พลังงานและวิกฤตการณ์อาหาร ประเทศไทยมีพื้นที่ภาคการเกษตรถึง 7 ล้านไร่เศษ ดังนั้นนับเป็นความจำเป็นที่ต้องจัดสรรงบประมาณสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภาครัฐควรส่งเสริมและมีมาตรการให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ เพิ่มศักยภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ วางแผนจัดการทรัพยากรน้ำ จำกัดและควบคุมราคาปุ๋ย ตลอดจนช่วยลดรายจ่ายให้พี่น้องเกษตรกรในทุกๆ ด้าน อันจะเป็นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ภายใต้นโยบายที่เข้มแข็ง

        แม้ในหลายประเทศทั่วโลกจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก โดยไม่สามารถจะคาดเดาได้ว่าอนาคตข้างหน้านั้นจะเป็นอย่างไร แต่สำหรับประเทศไทยคงต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เช่น ไม่ควรจำกัดการส่งออก ไม่บิดเบือนราคาตลาดแสวงหาพันธมิตรที่เป็นประเทศผู้ผลิตภาคการเกษตรเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และการตลาดซึ่งกันและกัน แม้ว่าวิกฤตการณ์อาหารทำให้เกษตรกรไทยได้รับผลประโยชน์มากขึ้นก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันผลกระทบยังคงตกอยู่กับคนจนในเมือง เพราะยังคงต้องจ่ายค่าอาหารในราคาที่สูงขึ้นถึง 43% และในที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ที่กรุงอักกรา สาธารณรัฐกานา ยังแสดงความเห็นเช่นเดียวกันว่า ในระยะยาวนั้น การเจรจาเปิดตลาดการค้านับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดส่งผลให้บรรดาเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะราคาพืชผลทางการเกษตรจะได้ราคาดีตามผลผลิตที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอันนับว่าเป็นผลประโยชน์ที่ดีแก่ประเทศไทยทั้งสิ้น


        นับว่าเป็นความโชคดีของเราที่เป็นประเทศส่งออกอาหารสุทธิที่สำคัญของโลก จึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์อาหารน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อีกหลายๆ ประเทศ การบริโภคภายใประเทศจึงไม่ต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลน และยังได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าภาคเกษตรที่สูงขึ้นด้วย

        เพราะอาหารไม่ใช่เพียงโภคภัณฑ์ แต่อาหารเป็นหัวใจของการอยู่รอดของประชากรโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้น ณ ที่หนึ่งที่ใด หากแต่กลายเป็นปัญหาใหญ่ทางสังคม และ การเมือง ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น